สรุปบทความ
เด็กเป็นนักค้นคว้าเพื่อการเรียนรู้โดยธรรมชาติ การหยิบจับ สัมผัส และการสังเกต เป็นวิธีการเรียนวิทยา-ศาสตร์ พฤติกรรมการเรียนวิทยาศาสตร์ของเด็ก คล้ายกับการเรียนเหตุผลทางคณิตศาสตร์ เช่น การจำแนก การเปรียบเทียบ การหาความสัมพันธ์ของวัตถุ การเรียนวิทยาศาสตร์และการเรียนคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยจึงพัฒนาควบคู่กัน แต่การเรียนวิทยาศาสตร์จะเน้นการเรียนทักษะวิทยาศาสตร์และธรรมชาติรอบตัว ได้แก่ เรื่องพืช สัตว์ เวลา ฤดูกาล น้ำ และอากาศร่วมด้วย
โดยพื้นฐานแล้ว วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องของการสังเกตโลกรอบตัวและการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับสิ่งที่เห็น ศึกษาตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ อย่างเช่นแมลงในสนามหญ้า ไปจนถึงสิ่งใหญ่ ๆ อย่างดวงดาว ในขณะที่เด็ก ๆ กำลังมองผ่านกล้องจุลทรรศน์หรือกล้องส่องทางไกล นั่นเท่ากับว่าเด็ก ๆ กำลังเก็บรายละเอียดหรือเก็บข้อมูล ยิ่งดูมาก สังเกตมาก ก็ยิ่งได้ข้อมูลมาก
เคยได้ยินเด็ก ๆ ตั้งคำถามแบบนี้กันบ้างไหม... ”ทำไมปลาไม่นอน” “ทำไมต้นหญ้าหน้าตาเหมือนต้นข้าว” “ภาพในโทรทัศน์เกิดขึ้นได้อย่างไร” “ทำไมเรือลำใหญ่ ๆ จึงไม่จมน้ำ” “ดาวหายไปไหนในตอนกลางวัน” คำถามมากมายจากสมองน้อย ๆ เด็ก ๆ คิดคำตอบเหล่านี้บ้างไหม แล้วมีใครเคยคิดคำตอบไว้บ้างหรือยัง ปัญหาชวนฉงนเหล่านี้ คือจุดเริ่มต้นของทักษะทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู ไม่ควรมองข้าม
แนวทางการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย
เมื่อเด็กช่างซักถาม อย่าทำท่ารำคาญ แต่ต้องพยายามตอบคำถามให้ได้มากที่สุดสร้างสภาพแวดล้อมทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นภายในบ้าน ห้องเรียน หาหนังสือเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์สำคัญของโลก การทดลองสนุก ๆ หรือเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาเตรียมไว้เสมอปลูกฝังความคิดทางวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น พาเด็ก ๆ เดินไปตามเส้นทางรอบ ๆ บริเวณโรงเรียน กระตุ้นให้เด็กสังเกตสิ่งรอบตัวแล้วนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนะ เพราะการได้เห็น ได้สัมผัสจากของจริง จะช่วยกระตุ้นความใฝ่รู้ของเด็กได้อีกมาก
การจัดประสบการณ์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัยเป็นการตอบสนองและส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในการเรียนรู้โลกธรรมชาติรอบตัวและพัฒนาทักษะทางสติปัญญาต่าง ๆ เนื่องจากเด็กในระดับปฐมวัยมีธรรมชาติของการสืบเสาะหาความรู้แบบวิทยาศาสตร์อยู่ในตนเอง การส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และค้นพบด้วยตนเองมากที่สุด ให้ได้ทั้งกระบวนการเรียนรู้และองค์ความรู้ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจะช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กในการพัฒนากรอบแนวคิดและทักษะต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในอนาคต
สรุปโดยรวม...
กิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เป็นการเรียนรู้ที่มีจุดมุ่งหมาย 2 ประการ คือ
1. การฝึกทักษะพื้นฐาน ทางวิทยาศาสตร์
2. การเรียนรู้ข้อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นธรรมชาติรอบตัวที่เด็กพบในชีวิตประจำวัน โดยเน้น
การใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ 1) การสังเกต 2) การจำแนก เปรียบเทียบ 3) การวัด 4) การสื่อสาร 5) การทดลอง และ 6) การสรุปและนำไปใช้
สิ่งที่ได้จากการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ การสร้างให้เด็กมีนิสัยค้นคว้า การสืบเสาะ และการทำความเข้าใจธรรมชาติรอบตัว รู้จักวิธีการค้นหาความรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์ โดยการพัฒนาทักษะพื้นฐานวิทยาศาสตร์ กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ในขณะเดียวกันเรียนรู้วิทยาศาสตร์รอบตัวไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น